ประวัติ อบต.และหมู่บ้าน
ประวัติองค์การบริหารส่วนตำบลด่านศรีสุข
องค์การบริหารส่วนตำบลด่านศรีสุข อำเภอโพธิ์ตาก จังหวัดหนองคาย ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของจังหวัดหนองคาย ระยะทางตามทางหลวง 211 และ 2020 ประมาณ 81 กิโลเมตร และอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอโพธิ์ตาก อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอโพธิ์ตาก 15 กิโลเมตร ได้แยกออกมาจากอำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 โดยรวมเอาพื้นที่ของ 3 ตำบล เข้าด้วยกัน จัดเป็นกิ่งอำเภอโพธิ์ตาก ได้แก่ ตำบลโพธิ์ตาก ตำบลโพนทองและตำบลด่านศรีสุข และจัดตั้งเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2542 และเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2550 ได้ยกฐานะเป็นอำเภอโพธิ์ตาก ตำบลด่านศรีสุขอยู่ในเขตพื้นที่โครงการป่าพานพร้าวและป่าแก้งไก่ ประกาศพระราชกฤษฎีกา ประกาศเป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. 2531
ความเป็นมาชุมชนตำบลด่านศรีสุข
บริเวณที่ตั้งชุมชนเดิมป่าดงดิบ ชื่อ “ป่าดงทอน” พื้นที่ป่ามีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้ สัตว์ป่า อาหารจากป่ามากมาย ทำให้มีคนต่างถิ่นอพยพมาจับจองที่ดินในห้วงเวลาใกล้เคียง กลุ่มแรกมาจากพื้นที่ใกล้เคียงจากบ้านดอนไผ่ บ้านโพนทอง เป็นการอพยพมาจับจองพื้นที่ทำกิน และได้ก่อตั้งหมู่บ้านแรก คือ “บ้านน้ำทอน” อีกกลุ่มมาจากคนงานที่ย้ายมาตัดไม้เข้าโรงเลื่อย โดยมาจากโคราช มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ที่เป็นผลมาจากทางรัฐบาลได้ให้สัมปทานป่าไม้ เมื่อปี พ.ศ. 2507-2509 ทำให้ชุมชนเพิ่มมากขึ้น และเมื่อทางรัฐบาลได้ประกาศปิดสัมปทาน และประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติพานพร้าว-แก้งไก่ ในปี พ.ศ. 2510 ก็ส่งผลกระทบต่อชุมชนที่อาศัยอยู่เดิมในพื้นที่ มีการผลักดันให้ออกนอกพื้นที่ป่าสงวนดังกล่าว ภายหลังรัฐบาลประกาศเปิดเขตผ่อนปรนให้ผู้ที่อาศัยอยู่เดิมประกอบอาชีพและอยู่อาศัยในบริเวณพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จึงเกิดการรวมตัวกันตั้งชุมชุนและจัดตั้งเป็นหมู่บ้านหลายหมู่บ้าน “ด่านศรีสุข” ตั้งชื่อหมู่บ้านตามชื่อของคนในครอบครัวที่อพยพเข้ามาอยู่ในที่นี้เป็นครอบครัวแรกสุด (ชื่อภรรยา) มีชื่อเดิมว่า บ้านด่านอีสุข ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า ราวปี พ.ศ.2510 มีสองสามีภรรยาเข้ามาทำมาหากินที่พื้นที่ดังกล่าวบริเวณ ดานหินกว้างใหญ่ ต่อมาภรรยาได้เสียชีวิตลงสามีเห็นเป็นทำเลที่อุดมสมบูรณ์กว่าบ้านเดิมจึงได้ชักชวนญาติพี่น้อง เข้ามาทำมาหากินรวมเป็นชุมชนขนาดเล็กและได้ตั้งชื่อตามเอกลักษณ์ คือ ลานหินดานกว้างใหญ่ไม่มีที่ใดเหมือน ในปีพ.ศ. 2516 ได้มีการก่อตั้งหมู่บ้านด่านอีสุข ต่อมาคนส่วนใหญ่เห็นว่าชื่อหมู่บ้านไม่สุภาพ เพื่อสิริมงคล และความผาสุกของชุมชนจึงได้เรียกว่า “ด่านศรีสุข” ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน “ตำบลด่านศรีสุข” เป็นตำบลที่แยกอออกมาจาก ตำบลโพนทอง ในอดีตมีการแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 9 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ 1 บ้านด่านศรีสุข หมู่ 2 บ้านน้ำทอน หมู่3 บ้านศูนย์กลาง หมู่ 4 บ้านบางกอกน้อย หมู่5 บ้านดอนขนุน หมู่ 6 บ้านห้วยหินขาว หมู่7 บ้านห้วยหมากพริก หมู่ 8 บ้านภูพนังม่วง หมู่ 9 พรเจริญ มีประชากรทั้งหมด 4,800 คน อาชีพส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรม พืช เศรษฐกิจ ยางพารา มันสำปะหลัง สับปะรด ปาล์มน้ำมัน ไม้ผลต่างๆ ตำบลด่านศรีสุขมีพื้นที่ 36.79 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่ป่าสงวนและป่าชุมชนกว่า 60%
ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านในตำบลด่านศรีสุข
1) ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน/ชุมชน หมู่ 1 บ้านด่านศรีสุข
บ้านด่านศรีสุขเดิมเป็นเขตสัมปทานของโรงงานสินชัยเพื่อตัดไม้ออกไปแปรรูปจึงทำ
ให้เป็นป่าที่ไม่สมบูรณ์เมื่อปี พ.ศ.2501 มีสองสามีภรรยาเข้ามาทำมาหากินที่พื้นที่ดังกล่าวบริเวณ ดานหินกว้างใหญ่ ต่อมาภรรยาได้เสียชีวิตลงสามีเห็นเป็นทำเลที่อุดมสมบูรณ์กว่าบ้านเดิมจึงได้ชักชวนญาติพี่น้อง เข้ามาทำมาหากินรวมเป็นชุมชนขนาดเล็กและได้ตั้งชื่อตามเอกลักษณ์ คือ ลานหินดานกว้างใหญ่ไม่มีที่ใดเหมือนและเป็นสิริมงคล และความผาสุกของชุมชนจึงได้เรียกว่า บ้านด่านศรีสุข เมื่อปี พ.ศ. 2510 ทางราชการได้ตั้งเป็นหมู่บ้านโดยมี
1. นายเพชร เกียรตินอก ตำแหน่ง ผู้ใหญ่บ้าน
2. นายวันดี เกียรตินอก ตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน
3. นายท่อน ศรียางนอก ตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน
ผู้ใหญ่บ้านได้เสนอทางราชการได้ขอจัดตั้งโรงเรียนผ่านหน่วยสันตินิมิตกองร้อย ต.ช.ด. เพื่อสอนลูกหลานที่ติดตามมา สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชนนี ได้ทรงมาสร้างโรงเรียนและบ้านพักตำรวจตระเวรชายแดน โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากพระสหายสมเด็จย่าคือมิสอาโอยาม่า จำนวน 40,000 บาท เพื่อสร้างโรงเรียนและบ้านพักดังกล่าวและให้ชื่อโรงเรียนว่า อาโอยาม่า 2
2) ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน/ชุมชนหมู่ 2 บ้านน้าทอน
เดิมบ้านน้ำทอน มีชื่อว่า “บ้านดงทอน “ เพราะมีป่าดงดิบหนาทึบมาก มีบ้าน 3 หลังคาเรือน คือ 1. นายแอ่น 2.นายยัง 3.นายผอง ต่อมามีผู้คนย้ายเช้ามาอยู่มากขึ้น คนส่วนใหญ่จะย้ายมาจาก บ้านดอนไผ่ และบ้านโพนทอน เมื่อมีบ้านหลายหลังคาเรือน ก็มีการจัดตั้งผู้นำขึ้น แล้วให้ซื่อหมู่บ้านว่า “บ้านน้ำทอน” เพราะมีน้ำทอนไหลผ่านหมู่บ้าน และ ลักษณะของภูมิประเทศของบ้านน้ำทอนในขณะนั้นเป็นโคกเป็นป่า มีป่ายาง ป่าพยุง ป่าเต็ง (ต้นจิก) ป่ารัง ป่าพลวง (ต้นกุง) มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่มากมาย เช่น เสือ กวาง เก้ง ละอง ละมั่ง ลิง ค่าง ชะนี หมูป่า กระรอก กระแต และมีสัตว์เล็กสัตว์น้อยอาศัยอยู่มากมาย เช่นไก่ป่า กระรอก กระแต อื่นๆ อีกมากมาย และเมื่อ ปี พ.ศ.2492 ได้ตั้งซื่อเต็มว่า บ้านน้ำทอน หมู่ที่ 9 ตำบลโพธิ์ตาก อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย จนถึงปัจจุบันได้มีการแยกส่วนการปกครองออกจึงทำให้บ้านน้ำทอน ขึ้นตรงต่อ บ้านน้ำทอน หมู่ 2 ตำบลด่านศรีสุข อำเภอโพธิ์ตาก จังหวัดหนองคาย ต่อมาก็ได้มีการแต่งตั้ง ผู้ใหญ่บ้านคนแรก คือ นายเมฆ ปราบพาล
3) ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน/ชุมชน บ้านศูนย์กลาง
บ้านศูนย์กลางชื่อเดิมคือหมู่บ้านดงกลาง ลักษณะพื้นที่ของหมู่บ้านมีแต่ป่าไม้เต็มไปหมดและอุดมไปด้วยพืชหลากหลายชนิดทั้งไม้ใหญ่พืชสมุนไพรที่ใช้ในการทำยาหรือเป็นอาหารในการดำรงชีพ การสัญจรไปมาในสมัยนั้นลำบากมากๆยิ่งหน้าฝนดูไม่จืดเอาเลย พอเอาเข้าจริงฉันกลับได้เข้ามาเป็นสมาชิกของหมู่บ้านนี้ ครอบครัวที่มาอยู่เป็นครอบครัวแรกคือ พ่อของนาย ก้อน พรมสมบัติ ซึ่งเข้ามาอยู่ประมาณในปี พ.ศ.2509 ต่อมาจึงได้มีคนอื่นเข้ามาร่วมอยู่ด้วยอีกสอง-สามครอบครัว และเพิ่มจำนวนขึ้นมาอีกเรื่อยๆมีการตั้งชื่อบ้าในตอนนั้นว่าบ้านดงกลาง ในสมัยนั้นขึ้นตรงต่อ ตำบลโพธิ์ตาก อำเภอศรีเชียงใหม่ และประมาณปี พ.ศ.2512 – 2513 จึงได้มีโรงเรียนเกิดขึ้นครั้งแรกตอนนั้นมีครู ตชด.เป็นผู้สอนคือ พลฯ วิเชียร ผิวขำ และ พลฯ สุขกิจ โคตรนุกูล จนกระทั่งในปี พ.ศ.2515 จึงมีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมีนาย เลื่อน โสพันธ์ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก ส่วนผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านในตอนนั้นคือ นายผดุง บุญเลี้ยง และนายเพียร ชมชัยรัตน์ วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2515 จึงได้มีการตั้งโรงเรียนที่ถูกต้องตามระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการ คือ โรงเรียนบ้านศูนย์กลาง มีพื้นที่ 45 ไร่ 90 ตารางวา ความเป็นอยู่ของขาวบ้านในสมัยนั้นคือประกอบอาชีพทำไร่และหาของป่าขาย ซึ่งนับว่าทำรายได้ให้กับคนในชุมชนดีไม่น้อยเพราะไม่ได้ลงทุนอะไรมาก ต่อมาในปี พ.ศ. 2518 หน่วยทหารพัฒนา กรป.กลาง ได้เข้ามาตั้งหน่วยงานขึ้นในหมู่บ้าน นำโดยท่าน ผ.บ.สุเทพ บุญสนอง และได้มาทำการพัฒนาหมู่บ้านโดยการจัดทำแผนผังในชุมชนให้เป็นระเบียบแบบแผนมีถนน มีซอยต่างๆดูแล้ว เป็นระเบียบสวยงามมาก และเปลี่ยนชื่อใหม่ จากบ้านดงกลางเป็นบ้านศูนย์กลางซึ่งจากการสังเกตนับว่าผู้นำในตอนนั้นท่านมีการวางแผนและมองการไกลว่าในอนาคตชุมชนจะต้องมีการพัฒนาไปในทิศทางใด ช่วงนั้นบ้านศูนย์กลาง เปลี่ยนมาขึ้นกับตำบลโพนทอง อำเภอศรีเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๕๒๐ ผู้ใหญ่บ้านคนเก่าหมดวาระ จึงได้มีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านใหม่ ซึ่งคนต่อมาคือ นายเที่ยง นระบุตร ผู้ช่วยตอนนั้นคือ นายสามชาย ทาโฮม และนายทองล้วน ขึ้นสันเทียะ
4) ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน/ชุมชนหมู่ ๔ บ้านบางกอกน้อย
เมื่อก่อนช่วงปี พ.ศ. ๒๕๒๐ หมู่บ้านนี้เรียกว่าบ้านห้วยกอก บ้านกอกน้อย ม.๑๑ ต.โพนทอง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย ชื่อของลำห้วยมีนายสุพรม อุปฮาด เป็น ผญบ. เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๓ มีประชากรอยู่ประมาณ ๕๐-๖๐ หลักคาเรือนมีวัดที่เป็นศูนย์รวมใจของหมู่บ้านคือวัดถ้ำพระบฎ ซึ่งเป็นก้อนหินยื่นออกมาจากถ้ำมีการขุดพบโครงกระดูกช้างมีโซ่ล่ามช้างปลอกคอช้างให้เห็นมีพระอาจารย์มาอยู่หลายรูปแต่ที่อยู่และสร้างให้เป็นวัดจริงๆคือ หลวงปู่จวนต่อมานายสุพรมได้ลาออกจากผู้ใหญ่บ้าน มีการเลือกตั้งใหม่ได้นายโกศล อุปฮาด เป็น ผญบ. คนที่ ๒ ต่อมาเมื่อสมเด็จพระเทพได้เสด็จมาทรงตั้งชื่อโรงเรียนบ้านด่านศรีสุขเป็นโรงเรียนอาโอยาม่า๒ ก็ได้ตั้งชื่อหมู่บ้านให้เป็นบ้านบางกอกน้อย เพราะอยู่ติดกับบ้านลุมพินี ให้คล้องจองกันกับบ้านวังน้ำมอก ต่อมานายโกศล อุปฮาด ได้รับเลือกตั้งให้เป็นกำนัน หลังจากแยกบ้านด่านออกมาเป็น ตำบลด่านศรีสุข แทนกำนันคนแรกที่อยู่บ้านศูนย์กลางเสียชีวิต ก่อนรับตำแหน่ง มาเป็นบ้านบางกอกน้อย ม.๔ ต.ด่านศรีสุข อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย ก่อนจะแยกมาเป็น อำเภอโพธิ์ตากในปัจจุบัน ต่อมาเมื่อนายโกศล อุปฮาด ลาออกจาก ผู้ใหญ่บ้าน และตำแหน่งกำนัน ก็มีการเลือกใหม่อีกครั้งที่ ๓ ได้นายบุญถม ไชยอินทร์ศูนย์ เป็น ผญบ. และเป็นกำนันแทนกำนันแทนกำนันตำบลด่านศรีสุขที่เสียชีวิตไป ผญบ. นายบุญถม เป็นกำนันรับตำแหน่งได้ประมาณ ๓-๔ ปี ได้เสียชีวิตไปอีกจึงจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้ นายสมชาย อุปฮาด เป็น ผญบ. จนถึงปัจจุบัน
5) ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน/ชุมชนหมู่ ๕ บ้านดอนขนุน
บ้านดอนขนุน หมู่ที่ 5 ตั้งเป็นหมู่บ้านเมื่อ ปี พ.ศ. 2525 มีชาวบ้านท่าสำราญ อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานครั้งแรกประมาณ 20 ครอบครัว มีต้นขนุนเยอะมากเป็นป่าใหญ่ ลำต้นสูงประมาณ 6 เมตร ตั้งแต่นั้นมาชาวบ้านเลยเรียกชื่อว่า “บ้านดอนขนุน” เป็นต้นมา บ้านดอนขนุน หมู่ที่ 5 ตั้งเป็นหมู่บ้านเมื่อปี พ.ศ. 2514
6) ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน/ชุมชนหมู่ ๖ บ้านห้วยหินขาว
ปี พ.ศ. 2524 หมู่บ้านแห่งนี้มีประชาชนเข้ามาอยู่อาศัยประกอบอาชีพเพียง 5 หลังคา มีสภาพพื้นที่ เป็นป่าเต็งรัง ซึ่งมีไม้แดง ไม้ประดู่ และไผ่ป่าที่มีสภาพพื้นที่อุดมสมบูรณ์และเริ่มมีประชาชน ได้บุกรุกเข้าตัดไม้เผาถ่าน และประชากรประกอบอาชีพปลูกมันสำปะหลัง ปลูกข้าวไร่ หลังจาก ตัดไม้ต้นใหญ่ๆ ไปแล้ว ป่าเต็งรังที่เคยอุดมสมบูรณ์ก็เริ่มเสื่อมโทรมลง จนกลายเป็นป่าที่ปลูกมันและข้าวไร่ไปในที่สุด ปี พ.ศ. 2525 เริ่มมีประชาชนอพยพมาตั้งกระท่อมอาศัยเพิ่มขึ้น 15 หลังคา ต่อมาทางราชการเห็นว่าเป็นไปตามทางกฎหมายบัญญัติการจัดตั้งหมู่บ้าน ดังนั้น นายณรงค์ ป้องพันธ์ นายอำเภอศรีเชียงใหม่ ได้ดำเนินการตามขั้นตอน ได้แต่งตั้งให้ นายทองนาค ชัยชนะ เป็นผู้นำหมู่บ้านหรือผู้ใหญ่บ้าน ประชาชนส่วนใหญ่จะอพยพมาจากจังหวัดนครราชสีมา สกลนคร และหนองคาย โดยมีการเรียกชื่อหมู่บ้านห้วยหินขาว ตามสภาพท้องถิ่นเดิมที่มีภูมิประเทศ เป็นห้วยที่มีหินสีขาวอยู่มากมา ปี พ.ศ. 2526 ประชาชนมีเพิ่มมากขึ้น 50 หลังคา แต่จะมีการปลูกสร้างที่อยู่อาศัยเป็นแบบกระท่อม และได้มีการร่วมมือกันปลูกสร้างสำนักสงฆ์ขึ้นเพื่อให้ได้มีการปฏิบัติกิจทางศาสนา แต่การคมนาคมยังไม่สะดวกใช้เส้นทางเดินเท้า ไม่มีพาหนะใช้ในการเดินทางหากมีการเจ็บป่วยก็ใช้รถเข็นล้อเลื่อนบรรทุกผู้ป่วยไปส่งขึ้นรถยนต์ประจำหมู่บ้านด่านศรีสุข ซึ่งขณะนั้นมีจำนวน 2 คัน หมู่บ้านห้วยหินขาว มีศักยภาพด้านธรรมชาติที่เป็นลำห้วยที่ไหลเป็นลักษณะน้ำตกที่มีความลึกถึง 7 เมตร และในบริเวณดังกล่าวมีต้นไทรใหญ่ที่มีร่มเงาที่เหมาะต่อการพักผ่อน แต่ก่อนชาวบ้านเรียกสถานที่แห่งนี้ว่าน้ำตกไทรทอง ปัจจุบันได้เรียกชื่อ น้ำตกห้วยหินขาว ตามชื่อหมู่บ้าน
7) ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน/ชุมชนหมู่7 บ้านห้วยหมากพริก
เดิมบ้านห้วยหมากพริก เป็นป่าเขา ลำเนาไพร เช่นเดียวกับหมู่บ้านอื่นๆ ในเขตตำบลด่านศรีสุข มีความอุดมสมบูรณ์มา โดยเฉพาะที่บ้านห้วยหมากพริกนี้ จะมีต้นพริกป่ามากมาย เป็นต้นกิ่งเถาวัลย์ ซึ่งจะเป็นต้นพริกที่สูงพันไปกับต้นไม้ยืนต้น ต่อมามีผู้คนอพยพเข้ามาอาศัยอยู่มาก มีการตัดต้นไม้มาก ทำให้พริกป่าหมดไปด้วย ปัจจุบันไม่พบต้นพริกป่าแล้ว และเมื่อปี พ.ศ. 2520 ทางราชการได้จัดตั้งให้เป็นหมู่บ้าน ชื่อว่า บ้านห้วยหมากพริก รายได้เฉลี่ยของประชากรในหมู่บ้าน 34,543.96 บาท/คน/ปี (ตามข้อมูล จปฐ.ปี 2554)
8) ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน/ชุมชนหมู่8 บ้านภูพนังม่วง
บ้านภูพนังม่วง หมู่ที่ 8 เป็นหมู่บ้านตั้งใหม่ โดยมีพระอาจารย์นิพล มาตั้งวัดป่าภูพนังม่วง ในปี พ.ศ. 2527 (อยู่ทางทิศตะวันตกของหมู่บ้าน) ระยะทางห่างจากหมู่บ้านภูพนังม่วง ประมาณ 500 เมตร มีราษฎรและญาติโยม จากอำเภอท่าบ่อ บ้านด่านศรีสุขและหมู่บ้านใกล้เคียงให้ความเลื่อมใสศรัทธาและนับถือพระอาจารย์พล ได้มาปลูกบ้านพักอาศัยอยู่ใกล้วัด ต่อมาได้มีราษฎรเข้ามาอาศัยมากขึ้น พระอาจารย์พล จึงได้เรียกราษฎรในหมู่บ้านมาประชุมหารือลงความเห็นว่าจะจัดที่ดินที่ว่างเปล่าสาธารณะประโยชน์บ้านด่านศรีสุข โดยจัดแบ่งให้ครอบครัวละ 2 งาน เพื่อปลูกบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ต่อมาเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2535 กรมการปกครองเห็นว่าพอที่จะจัดตั้งเป็นหมู่บ้าน จึงได้อนุมัติให้ตั้งหมู่บ้านขึ้น โดยชื่อว่า “บ้านภูพนังม่วง” หมู่ที่ 8 ขึ้น การปกครองอยู่กับตำบลด่านศรีสุข มูลเหตุที่ได้ชื่อว่า “บ้านภูพนังม่วง” จากคำบอกเล่าของคนแก่ในหมู่บ้านว่า มีน้ำซับและต้นไม้ คือต้นมะม่วงป่าต้นใหญ่ อยู่ทางทิศตะวันตกของหมู่บ้าน (ปัจจุบันเป็นเขตวัดป่าภูพนังม่วง” ชาวบ้านในละแวกนั้นเรียกกันติดปากว่า ซับม่วง พระอาจารย์พล จึงได้ตั้งชื่อว่า “บ้านภูพนังม่วง” ที่ตั้งบ้านภูพนังม่วง ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 8 ตำบลด่านศรีสุข อำเภอโพธิ์ตาก จังหวัดหนองคาย
9. ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน/ชุมชนหมู่9 บ้านพรเจริญ
บ้านพรเจริญเดิมคือเป็นคุ้มภูน้อย – บ้านด่านศรีสุข หมู่ที่ ๑๐ ต.โพนทอง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย เป็นคุ้มภูน้อย บ้านด่านศรีสุข อยู่ประมาณ ๑๐-๑๓ ปี ตอนนั้นการเดินทางไปมาลำบากมาก ถนนหนทางก็เป็นทางดิน ไม่ใช่ถนนลูกรัง ไฟฟ้า น้ำประปา ก็ไม่มีให้ น้ำอุปโภค บริโภคก็เป็นน้ำบ่อดิน ซึ่งอยู่มาประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๒- ๒๕๔๓ จึงได้มีการขอแยกหมู่บ้านขึ้น จัดตั้งหมู่บ้านในปี พ.ศ. ๒๕๔๓ ประมาณเดือน มีนาคม ๒๕๔๓ และได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านพรเจริญ หมู่ ๙ ต.ด่านศรีสุข กิ่งอ.โพธิ์ตาก จ.หนองคาย ตอนนั้น อ.โพธิ์ตาก ยังเป็น กิ่งอำเภอโพธิ์ตากอยู่ จึงมีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านขึ้นเป็นคนแรก คือ นายละมุล จันทะเนาว์ เป็นผู้ใหญ่บ้าน ส่วนผู้ช่วย คือ นายบุญยัง ประแดงสงค์ และนางสาวจารุวรรณ เอนเกษร ณ วันที่ ๒๓ เดือน มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๓ สมัยนั้นผู้ใหญ่บ้านมีวาระ ๕ ปี จึงได้เลือกตั้งใหม่ ก็มีผู้ใหญ่บ้านคนเก่าที่ลงสมัครเป็นคนแรก ไม่มีใครลงสมัครก็เลยได้ผู้ใหญ่บ้านคนเก่าเป็นอีกสมัยหนึ่ง คือนายละมุล จันทะเนาว์ เป็นผู้ใหญ่บ้านอีกสมัยที่สอง ผู้ช่วย คือนายบุญยัง ประแดงสงค์ และนางทองเลื่อน เครือหงส์ ซึ่งต่อมาผู้ใหญ่บ้าน นายละมุล จันทะเนาว์ หมดวาระอีก จึงได้มีการเลือกผู้ใหญ่บ้านคนใหม่ คือ นายปรีชา คณะโท ผู้ช่วยนั้นคือ นางทองเลื่อน เครือหงส์ และนางคำแพง ชิยางคบุตร