การท่องเที่ยวบ้านบางกอกน้อยมีจุดเริ่มต้นจากความอุดมสมบูรณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากมีโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยทอน (ตอนบน) อันเป็นโครงการพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2525 พระองค์ท่านเสด็จพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเยี่ยมประชาชนที่วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย พื้นที่เพาะปลูก และแหล่งอาหารของปลาหลายชนิด ใน ต.ด่านศรีสุข อ.โพธิ์ตาก จ.หนองคาย กลายเป็นแหล่งทำกินที่อุดมสมบูรณ์ขึ้นของชาว อ.โพธิ์ตาก จ.หนองคาย ซึ่งกำนันตำบลพระพุทธบาทในสมัยนั้น ได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายฎีกาขอพระราชทานขอให้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยทอน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพิจารณาแผนที่ และทรงมีพระราชดำริ แก่เจ้าหน้าที่กรมชลประทานว่าเห็นสมควรพิจารณาก่อสร้างอ่างเก็บน้ำตามคำขอของราษฏร ซึ่งหลังจากมีโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยทอน (ตอนบน) ก็ช่วยแก้ปัญหาให้ประชาชนที่ขาดแคลนแหล่งทำกิน และประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรง

เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2533 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชดำริให้พิจารณาดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยทอน (ตอนบน) โดยเร่งด่วน ทั้งนี้เพื่อเป็นการเก็บกักน้ำไว้ให้เกษตรกรได้ใช้ในการอุปโภค-บริโภค และการเกษตรกรรม รวมทั้งเป็นการป้องกันอุทกภัยอันเกิดจากน้ำไหลบ่าล้นตลิ่ง ท่วมไร่นา และพืชผลของเกษตรกรอีกด้วย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริให้พิจารณาวางโครงการและก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ และเขื่อนทดน้ำที่ลำห้วยทอน และห้วยสาขาของห้วยทอน เพื่อจัดหาน้ำช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูก จำนวนหลายหมู่บ้าน ในเขตตำบลต่างๆ ของอำเภอศรีเชียงใหม่ และอำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย และอำเภอน้ำโสม อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ตามความเหมาะสมที่สภาพแหล่งน้ำและสภาพภูมิประเทศจะเอื้ออำนวย โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยทอน (ตอนบน) เป็นแหล่งเก็บน้ำอันเป็นประโยชน์ ในการเพาะปลูกของประชาชน ช่วยให้มีน้ำอุปโภคบริโภคตลอดทั้งปี นอกจากนี้ยังป้องกันปัญหาอุทกภัย อันเกิดจากน้ำในลำห้วยทอน ไหลบ่าล้นตลิ่ง ท่วมพื้นที่ไร่นา โดยสามารถเก็บกักน้ำได้ รวมกว่า 29 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่ได้รับประโยชน์กว่า 4 หมื่นไร่ ช่วยเหลือประชาชนได้กว่า 1 หมื่น 3 พันคนโดยโครงการแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2538 เป็นจุดเริ่มต้นของการปลูกไม้ผลยืนต้นโดยนายอักษร บุตรวงษ์ แต่เดิมเป็นคนบ้านไร่แล้วมาอาศัยอยู่ที่บ้านด่านศรีสุข ต่อมาได้ไปจับจองที่ทำกินที่บ้านบางกอกน้อยที่เป็นพื้นที่เดิมของวัด ป่าช้าเก่า ซึ่งเจ้าอาวาสให้ประชาชนจับจองเพื่อทำมาหากิน และได้เห็นเพื่อนที่วังน้ำมอกปลูกเงาะแล้วได้ผลดี ประกอบกับแถวบ้านตัวเองยังไม่มีใครปลูกจึงได้นำมาปลูก ไดแก่ เงาะ จำนวน 10 ไร่ ประมาณ 2 ปีจึงได้เก็บผลผลิต ต่อมาจึงได้ปลูกลำไยเพิ่มอีก 10 ไร่ (ภายหลังได้แบ่งที่ให้ลูกหลาน) และได้เก็บเกี่ยวผลผลิตขายซึ่งเงาะและลำไยไร่นายอักษร บุตรวงษ์ มีรสชาติดีเป็นที่ต้องการของตลาด หลังจากนั้นชาวบ้านที่มีไร่บริเวณใกล้เคียงกันเห็นว่าได้ผลผลิตดีจึงปลูกตามกัน ทำให้มีสวนผลไม้เงาะ ลำไยเพิ่มขึ้น ในปี 2558 ราคาลำไยตกต่ำ และชลประทานปล่อยน้ำจากอ่างจำนวนมากซึ่งทำให้เกิดผลกระทบกับชาวสวนจึงได้เข้าร้องเรียนนายวิโรจน์ อักษรดี นายอำเภอโพธิ์ตากในขณะนั้น นายอำเภอพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ได้ออกตรวจพื้นที่เพื่อจะได้หาแนวทางช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของชาวสวนผลไม้บริเวณอ่างเก็บน้ำฯ พบว่าชาวสวนได้ปลูกผลไม้หลายอย่าง ไม่ได้มีเฉพาะลำไย ในวันนั้นขากลับได้นั่งเรือกลับมาที่ทางสำนักงานชลประทานโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยทอนตอนบน ทำให้เห็นบรรยากาศของอ่างเก็บน้ำห้วยทอนตอนบนที่สวยงาม ประกอบกับรสชาติผลไม้ที่ดี โดยเฉพาะเงาะที่อร่อย หวาน กรอบ ไม่เฉาะน้ำทำให้เกิดแนวคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนมาเที่ยวที่สวนผลไม้ของชาวบ้าน จึงได้คุยกับชาวบ้านว่าจะทำอย่างไร จึงได้จัดงาน “Cowboy Night” เพื่อประชาสัมพันธ์และจำหน่ายผลไม้ โดยนายอำเภอและเจ้าหน้าที่ได้ปั่นจักรยานมายังอ่างเก็บน้ำห้วยทอนตอนบน บริเวณสำนักงานชลประทาน โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยทอนตอนบน ปรากฏว่าเริ่มเป็นที่รู้จัก ผลไม้ไม่พอจำหน่าย วันรุ่งขึ้นต้องพาลูกค้าจะเอาที่สวน จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนในปีแรก หลังจากนั้นชาวสวนผลไม้จึงได้รวมกลุ่มกันเพื่อให้ตัวเองเข้มแข็งขึ้นโดยการส่งเสริมสนับสนุนของเกษตรอำเภอ ต่อมาจึงได้รับการสนับสนุนจากอบต.ทั้งในเรื่องงบประมาณ และนโยบาย โดยได้บรรจุอยู่ในแผนพัฒนาสามปี และแผนพัฒนาสี่ปี จึงดำเนินการจัดงานเพิ่มประสิทธิภาพและส่งเสริมการตลาดขึ้น

การท่องเที่ยวของตำบลด่านศรีสุขเมื่อปี พ.ศ.2559 โดยองค์การบริหารส่วนตำบลด่านศรีสุขได้เริ่มพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวจากเงินจ่ายขาดสะสมจำนวน 200,000 บาท เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณโครงการตามพระราชดำริอ่างเก็บน้ำห้วยทอนตอนบน โดยมีแนวคิดเอาศักยภาพชุมชนมาจัดการท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้ โดยได้จัดโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการตลาดการเกษตร ภายใต้กิจกรรม “งานผลไม้หวานด่านศรีสุขนั่งเรือชมเกาะกินเงาะในสวน” ที่ชุมชนบ้านบางกอกน้อย หมู่ 4 ซึ่งมีพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับปลูกผลไม้ เช่น เงาะ ลำไย ที่ได้ผลผลิตที่ดี ด้วยความสูงจากระดับน้ำทะเล 350 เมตร ทำให้เงาะที่นี่มีความแตกต่างจากที่อื่น คือรสชาติที่หวานและเงาะร่อนกรอบ สูงสุด 25 ต่ำสุด 19.3 เปอร์เซ็นต์โซลิด (วัดด้วยเครื่องวัดความหวาน) ในการประกวดผลไม้หวานด่านศรีสุข อีกทั้งบรรยากาศ ภูมิประเทศ ภูมิอากาศที่อยู่ในพื้นที่โครงการพระราชดำริ อ่างเก็บน้ำห้วยทอนตอนบน และการชมและชิมผลไม้ในสวนที่ต้องนั่งเรือเข้าไปซึ่งนักท่องเที่ยวจะได้ชมทิวทัศน์รอบๆ บริเวณอ่างเก็บน้ำ ทำให้การจัดงานผลไม้หวานด่านศรีสุขมีนักท่องเที่ยวให้ความสนใจ และได้จัดขึ้นติดต่อกันเป็นปีที่ 3 แล้ว

การชมและชิมสวนผลไม้ของชาวบ้านเก็บค่าบริการนั่งเรือ อิ่มละ 99 ในปีแรก และเพิ่มเป็น

199ในปี พ.ศ.2561 จัดขึ้นเมื่อ 7-11 สิงหาคม 2561 จากการท่องเที่ยวล่องเรือชมเกาะกินเงาะในสวนที่ได้จัดขึ้นมีการต่อยอดการท่องเที่ยวโดยการรวมกลุ่มของประชาชนในหมู่บ้านบางกอกน้อยในการจัดทำแพในอ่างเก็บน้ำใช้ชื่อ แพบางกอกน้อย โดยการไปดูงานที่น้ำพานและได้มารวมกลุ่มกันทำแพ ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนบ้านบางกอกน้อยโดยการดำเนินการของคณะกรรมการวิสาหกิจชุมชนที่เข้มแข็ง และได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ และหลายหน่วยงาน

นอกจากนี้ยังมีการท่องเที่ยวในหมู่ 5 บ้านดอนขนุน ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดดอนขนุน (ถ้ำฮ้าน) มี

พระครูธรรมญาณโสภณ (พระอาจารย์พวง ธัมมทีโป) เป็นเจ้าอาวาส ท่านเป็นที่เคารพศรัทธาของคนทั่วไป มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย และชุมชนยังได้รับงบประมาณสนับสนุนโครงการ OTOP นวัตวิถี มีกิจกรรมต่างๆ เช่น ตักบาตรข้าวเหนียว เป็นสถานที่อนุรักษ์ป่าชุมชนที่เป็นแหล่งต้นน้ำ เป็นต้น ทำให้ชุมชนเริ่มเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว มี TV ช่อง 5 มาถ่ายทำรายการ ในปี พ.ศ.2561 ยังได้รับการสนับสนุน “โครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี” จากหน่วยงานราชการ อีก 3 หมู่บ้าน คือ หมู่ 4 บ้านบางกอกน้อย หมู่ 5 บ้านดอนขนุน(ธรรมะและจักสาน) และหมู่ 6 บ้านห้วยหินขาว (เชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ) กลุ่มนักท่องเที่ยวมาจากคนในพื้นที่จังหวัดหนองคาย พื้นที่ใกล้เคียง กลุ่มศึกษาดูงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานภาครัฐ มีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศบ้าง จำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปีประมาณ 7,000-10,000 คน ช่วงเวลาที่นักท่องเที่ยวมามากเป็นช่วงเทศกาล ได้แก่ ช่วงเดือนเทศกาลผลไม้หวานด่านศรีสุขในเดือนสิงหาคม เทศกาลล่องแพเทศกาลสงกรานต์ในเดือนเมษายน งานวันเกิดของพระอาจารย์พวง ธัมมทีโป ที่วัดถ้ำฮ้านในเดือนมกราคม โดยนักท่องเที่ยวกลุ่มหลังเป็นกลุ่มสายบุญ หมู่ 6 บ้านห้วยหินขาว เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวแนวธรรมชาติ ป่าไม้  ข้าราชการทหาร นักเรียนในการศึกษาพันธุ์ไม้ต่าง ๆ รายได้ทั้งปีประมาณ 10 ล้านบาท จากการขายผลไม้, การจัดงานผลไม้หวานด่านศรีสุข, ล่องแพบางกอกน้อย รวมถึงการค้าขายสินค้าและบริการต่างๆ

แต่ก่อนชาวบ้านมีรายได้จากการเกษตรเป็นหลัก การท่องเที่ยวที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวให้

ความสนใจและเดินทางมาท่องเที่ยวจำนวนมาก และนักท่องเที่ยวรายใหม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น และมีการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆมากขึ้น อย่างไรก็ตามชาวบ้าน/กลุ่มต่างๆในชุมชน ยังไม่มีเครือข่ายที่เป็นกลไกชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวที่ชัดเจน ยังต่างคนต่างทำ ผลิตภัณฑ์และเส้นทางการท่องเที่ยวยังไม่หลากหลาย ยังขาดความรู้ในการจัดการการท่องเที่ยวที่น่าจะเป็นประโยชน์ให้ชุมชนได้มากกว่านี้ การออกแบบกิจกรรมการท่องเที่ยวมักถูกผลักดันจากข้างนอก กลุ่มต่างๆ ที่มีอยู่ของแต่ละหมู่บ้านยังแยกกันจัดการ มีข้อสังเกตเวลาที่นักท่องเที่ยวมาเที่ยวในพื้นที่คือ เขาจะแวะซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่ร้านค้าในตำบลพระพุทธบาท ซึ่งเป็นพื้นที่ติดกัน (ก่อนถึงตำบลด่านศรีสุข) เพื่อนำเข้าไปบริเวณสถานที่ท่องเที่ยวของชุมชนตำบลด่านศรีสุข เพราะชุมชนยังขาดความเป็นหนึ่งเดียว ขาดข้อมูลที่น่าสนใจที่จะนำมาทำการสื่อสารประชาสัมพันธ์แก่นักท่องเที่ยว (นักท่องเที่ยวกลัวว่าจะไม่มีร้านขายสินค้า) รวมถึงกลุ่ม/เครือข่ายอีก 7 หมู่บ้าน ก็ไม่ได้มีส่วนร่วมกับการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้น เพราะนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวบางกอกน้อยก็จะอยู่บริเวณแพทั้งวัน หรือถ้าไปที่วัดถ้ำฮ้านก็จะมาไหว้ (พระอาจารย์พวง ธัมมทีโป) และอยู่ที่วัดถ้ำฮ้านทำบุญแล้วเดินทางกลับ ซึ่งตำบลด่านศรีสุขยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอีกหลายแห่งที่มีศักยภาพและสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้